29 กรกฎาคม 2554

อุทยานฯ ตั้งเป้า เพิ่มเสือโคร่ง 2 เท่าใน 12 ปี

จากสถานการณ์เสือโคร่งในประเทศไทยลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันพบเหลือเพียง 190–250 ตัว ทำให้มีโอกาสเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ได้ในอนาคต เนื่องจากสภาพผืนป่าที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยลดน้อยลง ยังทำให้แหล่งอาหารอย่าง กระทิง วัวแดง เก้ง กวาง และหมูป่าลดลงลดลงไปด้วย ขณะเดียวกันเสือโคร่งยังถูกมนุษย์คุกคามจากการลักลอบล้าค้า เนื่องในวันอนุรักษ์เสือโคร่งซึ่งตรงกับวันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี ในปีนี้จะจัดงานขึ้นที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช
นายสุนันท์ อรุณนพรัตน์ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช บอกถึงสถานการณ์เสือโคร่งในปัจจุบันว่า อยู่ในภาวะถูกคุกคามอย่างหนักจากกระบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่าที่มีราคาซื้อ-ขายในตลาดมืดสูงมาก ทำให้เสือโคร่งถูกล่ามากยิ่งขึ้น ที่ผ่านมากรมอุทยานฯ ได้มีการจัดชุดลาดตระเวนออกปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มข้น โดยเฉพาะในถิ่นอาศัยของเสือโคร่ง และได้ขอความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการช่วงเป็นหูเป็นตา หากพบการล่าและการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย ให้รีบแจ้งมายังกรมอุทยานฯ ทันที
“ปีนี้นับเป็นครั้งที่ 2 ของการจัดงานวันอนุรักษ์เสือโคร่ง โดยสืบเนื่องมาจากความร่วมมือกับองค์กรด้านการอนุรักษ์ระหว่างประเทศ ที่มีการประชุมระดับรัฐมนตรีเอเชียด้านการอนุรักษ์เสือโคร่งครั้งล่าสุดเมื่อปีที่ผ่านมา ที่นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก สหพันธรัฐรัสเซีย ก็มีแนวทางอนุรักษ์ร่วมกันกับองค์การอนุรักษ์เสือโลก หรือ GTI โดยกำหนดให้วันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปีเป็นวันอนุรักษ์เสือโคร่ง ร่วมถึงตั้งเป้าหมายร่วมกันในการเพิ่มจำนวนประชาการเสือโคร่งในป่าของประเทศที่เป็นแหล่งอาศัยของเสือโคร่งให้ได้เป็น 2 เท่าภายในปี 2565 หรือ 12 ปีข้างหน้าด้วย” อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าว
ด้าน ดร.ธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองอธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในอดีตประชากรเสือโคร่งมีจำนวนมากถึง 1 แสนตัว ที่อาศัยอยู่ใน 13 ประเทศในแถบทวีปเอเชีย แต่ปัจจุบันมีเหลืออยู่ประมาณ 3,500 ตัว ส่วนในประเทศไทยเหลือเพียง 190–250 ตัว โดยจากข้อมูลของสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าพบว่า มีประชากรเสือโคร่งหนาแน่นมากที่สุดที่เทือกเขาตะนาวศรี ในบริเวณผืนป่าตะวันตกของไทย
ส่วนกิจกรรมในวันอนุรักษ์เสือโคร่ง จะมีการเดินรณรงค์เพื่อการอนุรักษ์เสือโคร่งจากกรมอุทยานไปยังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และยังมีการเสวนาวิชาการเพื่อการอนุรักษ์เสือโคร่งผ่านมุมมองจากผู้ปฏิบัติงานจริงในพื้นที่ โดยได้รับเกียรติจากหม่อมหลวงปรียากร วรวรรณ ผู้มีประสบการณ์จากการติดตามถ่ายภาพเสือมาอย่างมากมาย ยังมีผู้แทนจากสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า อย่างคุณพรกลม จรบุรม และ ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มสิทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเสือโคร่งจากกรมอุทยานฯ มาร่วมเสวนาในครั้งนี้ด้วย.

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น